Ektra Alumni - เรื่องเล่าศิษย์เก่า

Contact Us: admin@ektra.ac.th

นายสุกฤษฏิ์ ประสานเกลียว (บูม)

สารสาสน์เอกตรารุ่นที่ 15 (อนุบาล 3 – มัธยมศึกษาปีที่ 6)

   การศึกษา :

       • ปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (โครงการ TEP-TEPE ทุน 100%)
       • ปริญญาโท ได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดล แผนกธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2561 ไปศึกษาในสาขาวิศวกรรมเครื่องกลไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเคยู ลูเวน ประเทศเบลเยียม ปัจจุบันกำลังศึกษาชั้นปีที่ 1

   ความประทับใจที่มีต่อโรงเรียน :

       ผมรู้สึกว่าโรงเรียนเป็นที่สอนประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ผมมากมาย ทั้งการเรียนและกิจกรรมต่างๆ และทำให้ได้เจอเพื่อนดีๆ ที่ยังคุยกันมาจนถึงทุกวันนี้ ระบบสองภาษาเป็นระบบที่ช่วยฝึกภาษาอังกฤษได้ดีมากครับ เพราะเราได้ซึมซับการใช้ภาษาจากเจ้าของภาษาทุกวันแบบไม่รู้ตัว พอขึ้นมหาวิทยาลัยแล้วก็จะเห็นข้อแตกต่างกับเพื่อนๆ ที่ไม่ได้เรียนภาคภาษาอังกฤษมาได้อย่างชัดเจน และเมื่อเราคุ้นเคยกับภาษาอังกฤษ เราก็จะไม่กลัวที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากแหล่งข้อมูลที่เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งถือเป็นประโยชน์มากครับ เพราะแหล่งข้อมูลที่ดีเกือบทั้งหมดล้วนเขียนไว้เป็นภาษาอังกฤษทั้งสิ้น

       กิจกรรมที่ประทับใจที่สุดในสมัยเรียนคงเป็นการเข้าวงดนตรีไทยครับ ผมอยู่วงปี่พาทย์ของโรงเรียนและเล่นระนาดเอกเป็นหลัก ซึ่งได้เล่นและแสดงในงานมากมายทั้งงานในและนอกโรงเรียน การเล่นดนตรีทำให้ได้ฝึกทักษะใหม่ๆ มากมายนอกเหนือจากการเรียน ได้เรียนรู้ข้อคิดมากมายจากครูทุกท่านที่ตั้งใจสอนและมาซ้อมให้ทั้งตอนเช้าและตอนเย็น และยังได้เพื่อนๆ ที่สนิทสนมและเข้าใจกันมากอีกด้วยครับ

   แนะนำเคล็ดลับที่ทำให้น้องสอบติดในคณะที่ต้องการหรือได้ทำงานที่หวังไว้ :

       หากน้องๆ หวังอยากเข้าคณะที่ต้องการ สิ่งสำคัญที่สุดเลยคือการฝึกครับ ฝึกทำโจทย์และอ่านหนังสือเป็นประจำให้ติดเป็นนิสัย เช่นเดียวกับการเล่นดนตรีหรือกีฬา หากเราฝึกทุกวันจนเป็นนิสัย เราจะเริ่มทำมันเองโดยไม่รู้ตัว แล้วเราจะค่อยๆ เก่งขึ้นเรื่อยๆ วันละนิด ซึ่งแน่นอนช่วงแรกๆ อาจจะท้อและทรมาน ซึ่งทุกคนเป็นครับ ตัวพี่ก็เป็น แต่ถ้าเราฝ่าจุดที่รู้สึกท้อและทรมานตอนต้นๆ ไปได้แล้ว มันก็จะไม่มีอะไรฉุดเราไว้ได้แล้วครับ

   สิ่งที่อยากจะบอกถึงน้องๆ :

       พี่เชื่อว่าน้องๆ คงเคยได้ยินประโยคว่า “Practice makes perfect” กันทุกคน และพี่ก็เชื่อว่าคนส่วนมากที่ทำตามประโยคนี้ก็จะเก่งขึ้นในสิ่งที่เราฝึก และประสบความสำเร็จกัน แต่พี่ก็เชื่อว่าจะต้องมีบางคนที่อาจจะโชคไม่ดี ฝึกซ้อมมากมาย แต่ผลลัพธ์ครั้งแรกหลังจากฝึก กลับไม่เป็นตามเป้าที่ตั้งไว้ และคนเหล่านั้นก็ท้อและก็เลิกทำไปในที่สุด ซึ่งพี่คิดว่ามันน่าเสียดายมากๆ พี่จึงคิดว่าประโยคนี้มันยังไม่ถูกต้อง 100% ที่ถูกพี่ว่ามันควรจะเป็น “Practice does not make perfect, but practice makes habit. Habit is the key to perfection.” การฝึกซ้อมไม่ได้ทำให้เราสมบูรณ์แบบ แต่การฝึกซ้อมนั้นสร้างนิสัย ซึ่งนิสัยนั้นจะนำทางไปสู่ความสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าคนเราจะฝึกมามากขนาดไหน ยังไงก็ต้องมีสักครั้งหรือสองครั้งที่ผิดพลาดกันบ้าง นักเรียน Top ของชั้นยังเคยสอบได้คะแนนไม่ดี นักดนตรีมืออาชีพยังเคยเล่นผิดในงานแสดงใหญ่ แต่การฝึกนั้นสร้างนิสัยให้กับเรา หากเราเป็นนักดนตรีมืออาชีพและพลาดไปครั้งหนึ่ง เราก็ยังเล่นดนตรีเก่งอยู่และนิสัยเรายังสั่งให้เราฝึกซ้อมอยู่ และมันเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะผิดพลาดไปทุกครั้ง ซึ่งสำหรับบางคนนั้น การผิดพลาด “ครั้งสองครั้ง” นั้นอาจจะเกิดขึ้นในครั้งแรกหลังจากที่เราเปลี่ยนตัวเองมาพยายามฝึก เช่น “อุตส่าห์เปลี่ยนตัวเองมาอ่านหนังสือ ทำโจทย์ตั้งเยอะแล้ว แต่สอบครั้งแรกก็ยังทำได้ไม่ดีอยู่” พี่เลยขอฝากน้องๆ ไว้ว่า น้องบางคนอาจจะเป็นคนที่โชคไม่ดี พลาดในครั้งแรกๆ ที่เริ่มฝึก ไม่เหมือนกับนักดนตรีที่พลาดตอนเก่งแล้วแบบที่ยกตัวอย่างไป น้องอาจจะรู้สึกท้อว่าความพยายามของตัวเองมันไม่เกิดผล แต่พี่ขอให้น้องอย่าท้อและหยุดแค่นั้น หากเรามุ่งมั่นและทำต่อไป มันต้องค่อยๆ ดีขึ้นอย่างแน่นอน มันเป็นไปไม่ได้เลยที่น้องฝึกมากมายแล้วมันจะพลาดทุกครั้งไป ดีไม่ดี ผลสอบครั้งแรกของน้องเองอาจจะดีขึ้นโดยไม่รู้ตัวก็ได้ เช่น จากเดิมได้ 2/10 แต่ตอนนี้ได้ 4/10 ซึ่งมันยังตกอยู่ก็จริง แต่น้องก็เริ่มพัฒนาขึ้นมาแล้ว หรือสำหรับบางคน ฝึกมาเยอะมาก แต่กลับป่วยตอนสอบ ทำไห้ได้คะแนนไม่ดี ซึ่งในชีวิตข้างหน้าจะมีเรื่องคาดไม่ถึงแบบนี้มากมาย พี่เลยขอให้น้องๆ อย่าท้อหากเจอกับความผิดพลาดครั้งแรกหลังจากที่ได้ลองพยายามแล้ว และหากน้องฝ่ามันไปได้ น้องจะเปลี่ยนนิสัยของตัวเองไปแบบไม่รู้ตัว และน้องจะคอยฝึกและพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ แบบไม่รู้ตัวครับ