ชี้แจงประเด็นเรื่องการอ่านภาษาไทย

           ตามที่ในขณะนี้ได้มีกระแสวิจารณ์ประเด็นการอ่านไทยในสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีอีกครั้งที่มีการตื่นตัวด้วยความเป็นห่วงคุณภาพการศึกษาของประเทศ ในประเด็นวิธีการสอนให้เด็กอ่านออกและเขียนเป็น ซึ่งตรงกับเป้าหมายยุทธศาสตร์ที่กระทรวงศึกษาธิการได้ตั้งไว้ล่าสุด เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2556 ว่า “นักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ต้องไม่มี” พร้อมกับกำหนดให้มีมาตรการหลากหลายเพื่อระดมให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้ร่วมกันดำเนินการให้ประสบความสำเร็จอย่างกว้างขวางโดยเร็ว พร้อมให้สรรหาเทคนิควิธีการต่างๆ นำไปสู่การปฏิบัติสร้างนักเรียนให้อ่านออกเขียนได้

          กระทรวงศึกษาธิการปรับปรุงเนื้อหาการเรียนและเทคนิคกระบวนการสอนเพื่อให้เด็กไทยสามารถอ่านออกเขียนได้มาเป็นเวลายาวนาน จากผลการทดสอบระดับชาติก็ชี้ว่ายังไม่สามารถทำให้เด็กอ่านออกเขียนได้ตามเป้าหมาย โรงเรียนทุกแห่งในฐานะผู้นำนโยบายสู่การปฏิบัติต่างก็ตระหนักในความจริงดังกล่าว จึงได้ใช้รูปแบบและเทคนิคการสอนหลายๆ วิธี ซึ่งทั้งที่เป็นไปตามแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการ และ หน่วยงานทางการศึกษาต่างๆ รวมถึงที่แต่ละโรงเรียนเองได้ประยุกต์ขึ้น จึงเป็นหลายทางที่เลือกใช้

          โรงเรียนกลุ่มในเครือสารสาสน์ ก็เช่นเดียวกับโรงเรียนที่มุ่งมั่นคุณภาพทั้งหลายที่ต้องสรรหาวิธีการและเทคนิคช่วยนักเรียนให้อ่านออกและเขียนได้คล่อง ทั้งด้วยวิธีการสอนแบบแจกลูกคำ และแบบเรียงตัว เพื่อให้เป็นการอ่านที่ได้ผลทั้งการออกเสียงเพื่อการอ่าน และออกเสียงเพื่อการเขียน โดยพบว่าการอ่านแบบเรียงตัวเหมาะสมกับผู้เริ่มต้นเรียนเพราะสามารถปูพื้นฐานได้ไวในการอ่านคำและเขียนคำที่ถูกต้อง จากนั้นเมื่อผู้เรียนโตขึ้นด้วยพื้นฐานการอ่านและเขียนได้บ้างแล้วก็จะเสริมต่อด้วยการสอนอ่านออกเสียงแบบแจกลูกคำ โดยตลอดเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมาก็ได้ผลดีเป็นที่ยอมรับและไว้วางใจจากผู้ปกครอง

          ผลสัมฤทธิ์เชิงประจักษ์ที่ยืนยันคุณภาพผู้เรียน คือ คะแนนการทดสอบระดับประเทศ จากขององค์กรที่รับผิดชอบต่างๆ ทั้งในด้านความสามารถของผู้เรียนในการอ่านออกเสียง การอ่านจับใจความ การอ่านเพื่อการสื่อสาร รวมถึงด้านหลักภาษา ซึ่งหากพิจารณาวิเคราะห์ผลการทดสอบล่าสุดคือ ในปีการศึกษา 2556 ก็สามารถชี้ชัดสรุปได้ว่าผู้เรียนในรายวิชาภาษาไทยมีผลคุณภาพในระดับสูง

          อย่างไรก็ตาม คุณภาพการอ่านออกเสียงของผู้เรียนย่อมไม่ได้มาจากเทคนิควิธีการใดเพียงลำพัง การร่วมใช้หลากหลายกลไกที่เหมาะสม ร่วมกับการใช้สื่ออุปกรณ์การสอน การบริหารจัดการ การติดตามตรวจสอบที่ต่อเนื่องเข้มแข็งเพื่อไปสู่การแก้ไขพัฒนาอย่างรวดเร็ว ควบคู่กับการได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครอง ล้วนเป็นปัจจัยที่จะทำให้เป้าหมายนักเรียนอ่านออกเขียนได้เป็นความจริง

          เอกสารที่ปรากฏในสังคมออนไลน์ ไม่ใช่เอกสารแบบเรียนของโรงเรียนในเครือสารสาสน์แต่อย่างใด


ผลการสอบ O-NET วิชาภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6, มัธยมศึกษาปีที่ 3, มัธยมศึกษาปีที่ 6
โรงเรียนในเครือสารสาสน์ ปีการศึกษา 2554-2556







บทความที่เกี่ยวข้อง : อาจารย์จุฬาชี้สะกดคำเรียงตัวไม่ใช่เรื่องใหม่
อ้างอิง : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ประจำวันที่ 8 กรกฎาคม 2557